SundayZ.me

Storytelling Through Travel Photography

Trekkingเที่ยวไทย

Amazing Place – ภูบักได ก็มีช้าง (Milky Way) จ.เลย


ภูบักได

“ภูบักได” ชื่อนี้ น้อยคนนักจะรู้จัก อย่างน้อยก็มีผมคนนึงที่เพิ่งรู้จัก แต่นักท่องเที่ยว แนวกางเต๊นท์ เดินป่า รู้จักกันมานานหลายปีแล้ว ถือว่ายังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ค่อนข้างใหม่อยู่ ใน จ.เลย. บริหารการจัดการท่องเที่ยวโดย ชาวบ้านในชุมชน

ภูบักได อยู่ อ.ภูเรือ อยู่ในเขต เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ภูบักได นอกจากกางเต๊นท์ เที่ยวแล้ว ก็มีมุมที่ให้นักท่องเที่ยว ไปยืน บนหินที่ยื่นๆ ออกไป แล้วใช้มุมกล้องหลอก ให้หวาดเสียวเล่น เรียกว่า ผาหลอกลวง สิ่งที่ผมต้องการข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป คือ ภูบักได มันถ่ายดาว หรือทางช้างเผือก (Milky way) ได้หรือเปล่า? เผื่อเป็นแนวทาง โดยพยายามหารูปคนอื่นๆ ใน Internet ก็ไม่มีรูปใดๆ เกี่ยวกับการถ่ายดาวเท่าไหร่.

เริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพ ตอนคืน วันศุกร์ เวลา 3 ทุ่ม ถึงที่ ตลาดสดเทศบาล ตำบลภูเรือ จ.เลย ตอนเช้า เพื่อกินมื้อเช้า, หาซื้อเสบียง และของสด ขึ้นภูบักได.

หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปที่ บ้านกลาง อ.ภูเรือ

เมื่อเดินทางถึงบ้านกลางแล้ว ติดต่อรถเหมาเพื่อขึ้นไป ภูบักได

การเดินทางขึ้นภู มี 2 ช่วง คือ
ช่วงแรก นั่งรถจาก บ้านกลาง เข้าไป ช่วงแรก ราว 1.5-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่ประเภทรถ มีให้เลือก คือ รถอีแต๊ก กับกะบะ 4×4 ถ้าต้องการดื่มด่ำกับธรรมชาติ ก็นั่งรถอีแต๊ก โดยเฉพาะหน้าฝน จะมันมาก แต่ถ้าช่วงหน้าแล้ง จะเจอฝุ่นแดง และแดด แรงมาก ควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน พวกปลอกแขน, ผ้า Buff, หรือผ้าปิดปาก, หมวก, ผ้าคลุมกันแดด

ช่วงที่ 2 คือเดินเท้า เข้าไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ไม่ถือว่า โหด เท่าไหร่ จะลำบากแค่ช่วงแรกที่ทางเดินค่อนข้างชัน

ปล.
1. ถ้าหน้าฝน ที่นี่ ทากเยอะมาก เตรียมใจ เตรียมอุปกรณ์กันทากด้วย
2. ที่นี่ไม่มีลูกหาบ ดังนั้น ต้องแบกสัมภาระเอง
3. ใครจะมาเอง เตรียมเรื่องอาหาร น้ำดื่ม เครื่องนอน+กันหนาว มาด้วย

อุปกรณ์ถ่ายภาพ
1. Nikon D800 + 24-120mm F4 + Tokina 17-35mm F4
2. Fuji X-E2 + Kit 18-55 f2.8-4
3. มือถือ ASUS

สภาพทางวิ่ง ต้องรถ อีแต๊ก ของชาวบ้าน หรือ กะบะ 4×4 เท่านั้น

หลังจากนั่งรถกะบะจากบ้านกลาง ประมาณถึง 1 ชั่วโมง ก็จะถึงจุดตรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เลย จอดแวะกินข้าวเที่ยง ที่ห่อ ขึ้นมาจากด้านล่าง เพราะ ต้องนั่งรถต่อไปอีก 1 ชั่วโมง

นั่งรถต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึงจุดเดินเท้าขึ้นไป ภูบักได ช่วงแรก ของการเดินขึ้น จะเป็นทางชัน ขึ้นเขา ประมาณ 40 นาที

แล้วเดินทางราบต่ออีก 3 กิโล ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มากน้อยแล้วแต่ กำลัง รูปนี้ คือเป็นช่วงเดินทางราบแล้ว เพราะช่วงแรกที่เป็นทางชัน เหนื่อยจนไม่อยากหยิบกล้องมาถ่าย

ถึงบริเวณที่กางเต๊นท์ ประมาณ บ่าย 3 โมง เลือกทำเล กางเต๊นท์ กัน  บนนั้น มีส้วมหลุม (มี สแลนคลุมไว้รอบด้าน) ด้วย น่าจะเป็นชาวบ้านมาทำไว้ มีหลายจุดพอควรแล้ว จะหลบมุม เข้าไปด้านใน ไม่ต้องเข้าทุ่ง ถ้าเทียบส้วมหลุมที่นี่ กับบนดอยหลวงเชียงดาวแล้ว ให้ภูบักได 5 ดาวเลย … ที่นี่ผมว่า ผู้หญิง ที่ไม่ใช่ขาลุย ก็มาเที่ยวได้ นะครับ ไม่ยาก เท่าไหร่ ลำบากแค่ตอนเดินช่วงแรก

กางเต๊นท์ เสร็จ ก็ตรงไปถ่ายรูปจุดขายของภูบักได ก่อนเลย ต่อคิว ถ่ายกัน แบ่งปันกันถ่ายนะคับ

รอพระอาทิตย์ตกดินครับ ที่นี่ สวยไม่แพ้ที่ไหนเลย ไม่แปลกใจเลย ทำไม จ.เลย จึงได้อันดับ 1 ที่มีนักท่องเที่ยว มากที่สุด ตอนนี้ ก็ดูธรรมชาติสร้างสรร ให้ สิ…. ไม่ต้องไปดูพระอาทิตย์ตกดินที่ ผาหล่มสัก ภูกระดึงแล้ว มาที่นี่แหล่ะ … ชาวบ้านที่ เป็นไกด์นำเที่ยวบอกว่า พระอาทิตย์ มันตกดินเร็ว อย่าเผลอ เชียว …. เลยต้องมานั่งรอ เนี่ย …

ปล. ภาพด้านล่างนี้ใช้ Graduated ND Filter 3 Stop (แบบ Hard) 

นักถ่ายภาพ Landscape จะรู้ หลังพระอาทิตย์ตกดิน และลับขอบฟ้าไปแล้ว จะมีช่วง Golden Light หรือช่วง twilight เกิดขึ้น ประมาณ 5-10 นาที จะเป็นช่วงที่ท้องฟ้า สวยงามมาก เพราะมีโทนร้อน โทนเย็น ในภาพเดียว …

ภาพนี้ใช้ Graduated ND Filter 3 Stop (แบบ Hard) ช่วย … ถ้าขยับ Filter ในจุดที่เหมาะสม มองผ่านๆ นึกว่ามีหมอก

ธรรมชาติรอบตัวสวย ถ่ายยังงัยก็สวย … มีอะไรให้ถ่ายได้เยอะ เลยระหว่างช่วง Golden Light

พอเริ่มมืด หลังจากกินข้าว เรียบร้อย … อากาศ ตอนนี้ ค่อนข้างหนาวและแห้งพอควร (สบายไม่ต้องอาบน้ำ เพราะไม่มีน้ำอาบ อมยิ้ม24)
ตอนนี้เวลา 3 ทุ่ม … เริ่มวางแผนถ่ายดาว โดย เปิด App ในมือถือชื่อ Star Walk หาทิศ ว่าจะเกิด Milky Way ทางช้างเผือก ทิศใด? เวลาใด?

ดูจาก App Star Walk บอกว่า Milky Way ทางช้างเผือกจะเริ่มเดินให้เห็นตอน ตี 4 เป็นต้นไปจนถึงเช้า

สิ่งที่สำคัญของทางถ่ายดาว ไม่แพ้เลนส์ สว่างๆ และขาตั้งกล้อง คือการตั้ง Focus ของเลนส์

…ผมให้มันสำคัญอันดับ 1 เลย มันจะไม่มีประโยชน์ ถ้าทุกอย่างพร้อม คนพร้อม, ดาวพร้อม, เวลาพร้อม, ท้องฟ้าเปิด แต่สุดท้ายดัน Focus ไม่เข้า ทุกอย่างจบ Bye Bye OK … รอ Trip หน้า เลย…

ผมจะไม่ปรับ Manual Focus ไป Infinity… บนตัวเลนส์ เพราะเลนส์ส่วนใหญ่ ที่หมุน Manual Focus ไปที่ Infinity มักไม่ชัดที่ระยะ Infinity จริง อมยิ้ม20

โชคดีคืนนั้น พระจันทร์ ยังอยู่บนท้องฟ้า ดูจาก App แล้ว พระจันทร์จะหายไปจากท้องฟ้าหลังเที่ยงคืน หากพระจันทร์ยังอยู่พร้อมดาว จะทำให้ ถ่ายดาวไม่ค่อยติด พระแสงจากพระจันทร์จะรบกวน.

ผมเลยถ่ายดวงจันทร์ ตั้งแต่ 3 ทุ่ม แล้วปลด Auto Focus ออกเป็น Manual … แล้วแปะเทป บนแหวนหมุน Focus เลนส์ Lock ไว้ ไม่ให้ Focus เคลื่อน แล้วรอเวลาไปถ่ายดาวตอนตี 4 … ถ้า focus ที่พระจันทรได้ชัด ถ่ายดาวก็น่าจะชัดด้วย

ปล. ถ้าไม่มีพระจันทร์ ก็ต้องใช้ดาวที่สว่างที่สุดตอนนั้น ถ่ายเอา เพื่อตั้ง Focus

ภาพนี้แสงจากพระจันทร์ สว่างมาก ตอน 3 ทุ่ม … ช่วงเวลานี้ จะเริ่มเห็นทางช้างเผือกแล้ว รางๆ กำลังตั้งลำเลย…แต่ยังเป็นแค่ส่วนหาง.. แล้วมีแสงรบกวนเยอะ

Phu Bak Dai

ผมตั้งนาฬิกาปลุกตอนตี 3 ก่อนเวลาจริงๆ 1 ชั่วโมง (ตี 4) มาซ้อมถ่าย หามุมไปเรื่อย เพื่อดูว่า Focus ที่ Set ชัดไหม, มุมไหน น่าจะสวย ถ้ามีเวลาคิดก่อน มันจะได้ แก้ไขสถานการณ์ หากเกิดปัญหาหน้างานได้ทันท่วงที … ลองซ้อมแถวเต๊นท์ จะเห็นได้ว่า ทางช้างเผือก เริ่มขึ้นแล้ว

ภาพถ่ายดาว สิ่งสำคัญต่อไป คือฉากหน้า… สำคัญเป็นอันดับรองจาก Focus (ค่า f สว่างๆ ยังไม่อยู่ในลำดับความสำคัญอีกหรอ

ฉากหน้ามันคือสิ่งที่บอกความแตกต่าง ของแต่ละรูป ที่ถ่ายทางช้างเผือก…

การตั้งกล้องเพื่อถ่ายดาว

1. ผมจะถ่ายเป็น Raw File เสมอ
2. White Balance ตั้งไว้กลางๆ ประมาณ 3-4300, ISO 4000
3. Picture Control : Vivid, Sat เร่งสุด , Contrast เร่งสุด, ADL เป็น Low หรือ Normal
แต่สุดท้าย การปรับ ในข้อ 3. จะไม่มีผลเท่าไหร่ เพราะ การถ่ายดาว ผมจะเอาไป Process ต่อใน Photoshop ซึ่ง ข้อมูลข้อ 3) จะหลุดหมด (ที่คนบางคนมักบอกว่า Raw มักสีซีด  ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ ต้นเหตุเพราะ โปรแกรมเช่น LR/PS นั้น Decode ข้อมูลใน Raw ไฟล์ไม่ได้ เลยใช้ Adobe Standard Color ของตัวเองใส่เข้าไปแทน สีมันก็จะตุ่นๆ … ถ้าจะให้สีตรงกับหลังกล้อง ต้องใช้ โปรแกรมของค่ายกล้อง) … แต่ผมปรับไว้ เผื่อวันข้างหน้า จะไปปรับใน Capture NX2. มันจะได้มีผลทันที

โดยปกติขั้นตอน Post-Process (RAW) ภาพ Landscape ผมจะทำใน Capture NX2 ก่อนเสมอ (ไม่ใช่ Capture-NXD นะครับ) ผมชอบโปรแกรมนี้มากที่สุด แม้จะไม่มีการพัฒนาต่อแล้ว แต่กล้องผมยังเป็น Nikon D800 ซึ่งเป็นกล้องรุ่นสุดท้ายที่ Capture NX2 ยังรองรับได้ (ก่อนที่ Google จะซื้อไปดองไว้) จะทำให้ได้สีที่ตรงตาม Nikon Color Profile จริงๆ แล้ว อาจโยนไปทำต่อใน Photoshop … แต่การถ่ายดาวนั้น แตกต่างออกไป เพราะเครื่องมือปรับแต่งใน Capture-NX2 มีไม่เท่าใน Photoshop ซึ่งมีมากกว่า และปรับแต่งได้หลากหลาย และละเอียดกว่ามาก

ปัจจุบัน วิธีการ Post-Process รูป ถ่ายดาว มีเครื่องมือเยอะๆ  Basic ก็เล่นกับ Curve ก็สามารถทำได้แล้ว หรือเอาไปทำต่อด้วย google Niks Software filter ก็ทำได้ง่ายขึ้น … สามารถค้นหา ใน youtube ได้
ปล. ถ้ามีเวลาจะมาแนะนำวิธีการ Post Process รูปทางช้างเผือก Milky Way

ทางช้างเผือก จะเคลื่อนตลอดเวลาไม่ได้หยุดนิ่ง จะหมุนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้เช้า ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนเริ่มมองไม่เห็น เพราะเจอแสงจากพระอาทิตย์กลบหมด

ถ่ายกันจนหนำใจเลย จนถึงเช้า

ถ่ายจนถึงเช้า พระอาทิตย์ขึ้นมา กลบ ทางช้างเผือก… อากาศยังเย็น ประมาณ 14 องศา

หลังจาก กินมื้อเช้า ก็เริ่มเก็บเต๊นท์ สัมภาระ ประมาณ 10 โมง ก็เริ่มเตินทางลงจากภู แต่ก่อนลง ขอ ถ่ายรูป ผา หลอกลวงซะหน่อย ตอนนี้ ไม่ย้อนแสงแล้ว ..

Phu Bak Dai

นอกจาก ผาหลอกลวง แล้ว.. ยังมี ผาHamหดด้วย อยู่ใกล้ทางเดินลงจากภู … ผานี้หวาดเสียว มาก ถึงมากที่สุด …และทางเดินไป ผาหดนี่ ริมหน้าผา เลย … ใครเป็นโลกกลัวความสูง เดินไม่ได้แน่

ต้องขอลาไปด้วยภาพสุดท้าย ดอกอะไรก็ไม่รู้ ขึ้นอยู่ริมผา ระหว่างทางเดินไป ผา Ham -หด

พอสรุป อันดับและสิ่งสำคัญสำหรับถ่ายดาว (ความเห็นส่วนตัว) คือ
1. Focus ต้องโดน
2. ฉากหน้าต้องมี
3. องค์ประกอบต้องได้
4. ค่า F และ ISO ที่เหมาะสม เป็นอันดับสุดท้าย

ท้ายสุดนี้ ที่ผมมาแนะนำ เทคนิคการถ่ายดาว ซึ่งไม่แน่ใจและอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการนัก แต่ผมก็ใช้วิธีนี้ ถ่ายมาตลอด
ก็หวังว่า เผื่อมีใครสักคนที่อยากไปถ่ายดาวที่ ภูบักได แล้วค้นหาใน google ก็อาจจะเจอกระทู้ นี้ ที่พอเป็น Guideline ได้บ้าง

สวัสดีครับ